สำหรับโพสนี้ทาร่ามาบ่นในฐานะมนุษย์แม่ว่าบางที-บางพฤติกรรม-บางอย่างของลูกเราก็สามารถทำให้เราส่ายหัวได้เหมือนกัน ลูกชายคนโตของทาร่าชื่อไมเคิลค่ะ บางครั้งก็ซนตามภาษาเด็กผู้ชาย ชอบทำนู้นนี้ตก หกเลอะเทอะ บางครั้งก็เอาของเล่นไปโรงเรียนแล้วทำหาย เอามือถือเข้าไปเล่นในห้องน้ำแล้วทำตก บางวันไม่กินข้าวเย็นแล้วตื่นมาหิวตอนดึกๆ ต้องมาหาอาหารทานตอนกลางดึก ทาร่าเชื่อว่าคนที่เป็นแม่เหมือนกันน่าจะนึกออกเนอะ 😅
ในฐานะมนุษย์แม่ผู้ศึกษาและหลงใหลศาสตร์พัฒนาตัวเองขั้นสุด และเรียนโน่นนี่มาเยอะแยะ แน่นอนว่าทาร่าก็มีเทคนิคที่ใช้กับลูก ที่เวลาเพื่อนๆ มาเห็นแล้วต้องร้องว้าว!!
มันคือการโค้ชชิ่งลูกด้วยการถามเพื่อชี้นำแล้วให้เค้าคิดเอง และคำถาม 4 ข้อที่ทาร่าใช้ คือ
1. มันเกิดอะไรเกิดขึ้น
2. ลูกได้เรียนรู้อะไรจากเหตุการณ์นี้
3. หลังจากนี้ลูกจะทำอะไรที่ต่างไปจากเดิม
4. แล้วเราจะแก้ปัญหาตรงหน้านี่ยังไง
ตัวอย่างจากสถานการณ์จริง คือเช้าวันที่ไมเคิลต้องไปโรงเรียน ซึ่งบางวันเขาตื่นเช้า หลังจากแต่งตัว กินข้าวเสร็จแล้ว ก็จะมีเวลามานั่งเล่นเกมต่อจนถึงเวลาที่แม่ (หรือป่ะป๊า) ไปส่งที่โรงเรียน วันนั้นก็เป็นอย่างนั้นแหละค่ะ คือเขาตื่นเช้า ทำทุกอย่างเสร็จแล้วก็นั่งเล่นเกม แล้วไม่ได้เล่นเปล่าๆ ดันเล่นไป กินน้ำว่านหางจรเข้ไปด้วย แล้วความซวยก็บังเกิด
…
…
…
…
…
...
น้ำว่านหางจรเข้ สูตรผสมน้ำตาล แถมเนื้อแน่นเต็มขวด หกค่ะ!!!
เลอะเทอะตั้งแต่คีย์บอร์ด โต๊ะ มาถึงพื้น ซึมไปในตู้เก็บของที่อยู่ติดๆ กันด้วย
ไมเคิลตกใจขั้นสุดเรียกแม่มาดูสภาพตรงหน้าและกำลังจะบีบน้ำตา (ท่าไม้ตายเค้าค่ะ)
“มัมมี่ ผมขอโทษ ผมผิดไปแล้ว”
อ๊อยยย!! แม่นี่ความดันขึ้นเลย ลำพังต้องเช็ดถูหมดนี่ในเวลาปกติก็งานใหญ่แล้ว และนี่ดันมาหกเอาเช้าวันที่ต้องไปโรงเรียนอีก คือเราไม่มีเวลาเยอะขนาดนั้น ไมเคิลสัมผัสได้ถึงความมาคุของแม่ ร้องไห้เลยจ้าาาา อ๊อยยย… ชีวิตแม่จะมีอะไรบันเทิงได้มากกว่านี้อีกมั้ย
ทาร่ารีบตั้งสติแล้วงัดเอาเทคนิคโค้ชชิ่งมาใช้ (พอเรียนเยอะๆ อ่านเยอะๆ มันก็จะซึมออกมาได้ง่ายแบบนั้นล่ะค่ะ)
Q1: ไมเคิลใจเย็นๆ มองหน้ามัมมี่แล้วค่อยๆ เล่ามาว่ามันเกิดอะไรขึ้น
ลูกชายทาร่าสงบสติอารมณ์ลงแล้วค่อยๆ เล่าให้ฟังว่า
“ผมเล่นเกมแล้วหิวน้ำ เลยเอาน้ำมานั่งกินด้วย แล้วมันก็หกอย่างที่เห็นนี่แหละ”
Q2: หกแล้วมันเป็นยังไง ยูได้เรียนรู้อะไรจากเหตุการณ์ในครั้งนี้
ไมเคิลหน้าจ๋อยและตอบมาว่า
“ถ้ามันหกก็จะเลอะเทอะไปทุกที่ แล้วคีบอร์ดก็อาจจะเสียได้”
Q3: แล้วครั้งต่อไปยูจะทำอะไรที่แตกต่าง
ซึ่งไมเคิลก็พูดออกมาเองว่า
“ต่อไปเวลาผมเล่นเกมหน้าคอมฯ ผมจะไม่เอาน้ำ ไม่เอาอะไร มากินตรงนี้อีกแล้ว”
ทาร่าถามต่อว่ารวมถึงขนมขบเคี้ยวด้วยหรือเปล่า แล้วก็ปล่อยให้เค้าคิดเอง ซึ่งแน่นอนคำตอบก็คือ “ใช่” เริ่ดดดด ลูกแม่ได้เรียนรู้อะไรบางอย่างแล้ว และก็มาถึงคำถามสุดท้าย
Q4: แล้วเราจะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วยังไงดี
ไมเคิลบอกว่า “ผมจะไปเอาผ้าชุบน้ำมาเช็ด”
แล้วเราก็ช่วยกันเช็ด แม่เลื่อนโต๊ะ ไมเคิลเช็ดนะ เดี๋ยวแม่ยกโต๊ะกลับเข้าที่ ไมเคิลเอาผ้าไปล้างน้ำแล้วกลับมาอีกรอบ จนทุกอย่างกลับเข้าสภาพเดิมและไมเคิลก็ได้เรียนรู้ที่จะแก้ปัญหาด้วยตัวเอง (ส่วนแม่ก็ได้ฝึกสติตั้งแต่เช้าเลยจ้าาา 😅)
—--------------
ซึ่งเทคนิคโค้ชชิ่งแบบนี้ก็ตรงกับที่ ดร.สุพาพร เทพยสุวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็ก เคยบอกในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการว่า
พ่อแม่ควรให้ลูกฝึกแก้ปัญหาด้วยตนเอง ถ้าหากคุณพ่อคุณแม่ช่วยแก้ปัญหาให้ลูกเสมอ ลูกจะขาดทักษะในการพัฒนาด้านความเชื่อมั่น หากเราให้เด็กคิดแก้ปัญหาด้วยตนเอง บางครั้งเด็กจะคิดไม่ค่อยเป็น หากพูดถึงภาพใหญ่ นั่นหมายความว่า ยอมให้ลูกได้เกรด B หรือ C บ้างแทนที่จะได้เกรด A ตลอดเพื่อให้ลูกเรียนรู้ทักษะในการแก้ปัญหาในการทำงาน
—---------------
นี่ก็เป็นเทคนิคโค้ชชิ่งลูกง่ายๆ ที่ใครๆ ทำได้ แต่ทาร่าคิดว่าที่จริงก็ใช้ได้กับสามี เพื่อน หรือพ่อแม่เราก็ยังได้เลย คือแทนที่จะเอาความคิดเราไปยัดเยียดให้ใคร แต่ใช้วิธีการถามนำทางเพื่อให้เค้าตระหนักเห็นปัญหา สาเหตุ เรียนรู้ วิธีแก้ปัญหา และมองเห็นภาพรวมของ ‘ปัญหา’ ด้วยตัวเอง
เป็นอีกหนึ่งเทคนิคที่ทาร่านำมาฝากสำหรับผู้อ่านที่มีลูกวัยเดียวกัน นอกจากเรื่องโค้ชชิ่งลูกง่ายๆ แล้วทาร่ายังมีหนังสืออีกเล่มนึงที่ได้ตกผลึกศาสตร์โค้ชชิ่ง พัฒนาตัวเองไว้ด้วยกัน ผ่านการทำ Vision Board
ถ้าคุณชอบ 4 คำถามโค้ชชิ่งลูก ทาร่ามั่นใจว่าคุณจะชอบเล่มนี้ด้วยเหมือนกันค่ะ 👇
📙📙📙
หนังสือ "Power of Vision Board เปลี่ยนชีวิตให้เป๊ะปังด้วยพลังจากรูปภาพ" โดย Tara Thow
แบบเล่มที่ Se-ed https://bit.ly/3mJ7fNl
E-book ที่ Meb: https://bit.ly/3Bljwh0
E-book ที่ Ookbee: https://bit.ly/3Bn43Nj
ช่องทางอื่นๆ ในการติดตามทาร่า:
Facebook: https://www.facebook.com/pagetarathow
Youtube: tarathow
IG: tarathow
Blockdit 1: มนุษย์แม่ลูกสองจากเมืองซิดนีย์ By Tara Thow
Blockdit 2: เทคนิคเพี้ยนๆที่เปลี่ยนชีวิตได้จริง by Tara Thow
Blogspot: tarathow.blogspot.com
Tiktok: @tarathow
ติดต่องาน: ไลน์ไอดี tara.thow
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น