11 กรกฎาคม 2565

ออสเตรเลีย: สอนเรื่องเงินเด็กๆ ยังไง

เรื่องเงินๆ ทองๆ นี่เป็นทักษะที่จำเป็นกับชีวิตเรามากๆ แต่น่าเสียดายที่ไม่ได้มีบรรจุไว้ในบทเรียน ไม่ได้เฉพาะที่เมืองไทยนะคะ ที่ออสเตรเลียก็เหมือนกันค่ะ เราไม่มีแบบเรียนการเงินอย่างเป็นทางการให้กับเด็กๆ (อย่างน้อยก็จนถึง ป.5 ที่ลูกชายทาร่าเรียนอยู่ - โรงเรียนเค้ายังไม่เคยสอนเรื่องนี้เลยค่ะ)


หรือถ้าจะมี ก็จะมีในรูปแบบ workshop เสริมที่พ่อแม่ต้องลงทะเบียนให้ลูกๆ เพิ่ม (แต่ก็มีไม่เยอะ) 


หรือไม่ก็เป็นรูปแบบอาสาสมัครของกลุ่มไหนซักกลุ่ม (แต่ก็มีไม่บ่อยเหมือนกันค่ะ)


Credit : 2GB

ก่อนที่ทาร่าจะมาทำโรงเรียนสอนภาษาไทยให้เด็กๆ ที่เกิดต่างประเทศ ทาร่าทำงานไฟแนนซ์ในส่วนของสินเชื่อมาก่อนค่ะ ทุกคนที่ทำงานด้านนี้จะต้องเป็นสมาชิกของหน่วยงานที่ชื่อว่า MFAA (Mortgage & Finance Association of Australia) ทาร่าเลยมีโอกาสได้ไปทำงานอาสาสมัครให้ความรู้ทางการเงินกับเด็กๆ ที่นี่ด้วย 1 ครั้ง ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่ดีมากๆ เลยค่ะ เพราะก่อนที่เราจะไปให้ความรู้เด็กๆ ได้ เราก็ต้องไปอบรมเรื่องที่จะสอนจาก MFAA ก่อน


และสิ่งที่ MFAA กำหนดให้พวกเราชาวไฟแนนซ์ไปแบ่งปันกับน้องๆ ชั้นประถม-มัธยมทั่วออสเตรเลีย มีอยู่ 3 ประเด็นหลักๆ คือ


1. เด็กๆ ต้องแยกให้ออกระหว่าง “สิ่งจำเป็น” กับ “สิ่งฟุ่มเฟือย”

เรื่องนี้สอนกันง่ายๆ พ่อแม่สามารถชวนเด็กๆ คุยได้ตั้งแต่เล็กๆ โดยไม่มีคำว่า “เงิน” เข้ามาเกี่ยวข้องเลยค่ะ แค่ลองชวนคุยและฝึกแยกแยะค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่อยู่รอบตัวเรา ตั้งแต่ กระเป๋า นาฬิกา ผลไม้ แฮมเบอร์เกอร์ เฟรนช์ฟรายส์ มือถือ เกมส์กด ลูกปิงปอง ลูกบอล ร่ม เสื้อกันหนาว ค่าน้ำ ค่าไฟ ฮอลิเดย์ รถ บ้าน ฯลฯ


Credit : Pixabay 


และสอนให้เด็กๆ เข้าใจว่า ‘สิ่งจำเป็น’ หรือ ‘สิ่งฟุ่มเฟือย’ ของเราอาจจะเหมือนหรือต่างจากคนอื่นก็ได้ เช่น มือถือเป็นสิ่งจำเป็นของพ่อแม่ แต่เป็นสิ่งฟุ่มเฟือยของเด็กๆ และ ‘สิ่งจำเป็น’ หรือ ‘สิ่งฟุ่มเฟือย’ ของเด็กๆ ก็อาจจะเปลี่ยนไปตามเวลาได้ด้วยเหมือนกัน เช่น มือถือเป็นสิ่งฟุ่มเฟือยของเด็กๆ ในตอนนี้ แต่ในอนาคตมันก็จะกลายเป็นสิ่งจำเป็นได้เหมือนกัน


เมื่อเด็กๆ สามารถแยกแยะ ‘สิ่งจำเป็น’ กับ ‘สิ่งฟุ่มเฟือย’ ได้ด้วยตัวเองแล้ว ในอนาคตเค้าก็จะมีความยับยั้งชั่งใจ เมื่อต้องตัดสินที่จะต้องใช้จ่ายเงินออกไปค่ะ


2. สอนเด็กๆ ให้เข้าใจเรื่องการวางแผนทางการเงินล่วงหน้า 


เพราะบนโลกใบนี้ไม่ได้มีแต่ของชิ้นเล็กๆ เช่น ขนม 5 บาท 10 บาท หรือของเล่นชิ้นละ 500 บาท แต่เด็กๆ ต้องเข้าใจว่า ของบางอย่างมันก็ชิ้นใหญ่เกินกว่าที่จะซื้อได้ทันที เช่น บ้าน รถ คอมพิวเตอร์ หรือ ฮอลิเดย์ต่างประเทศ ไม่ได้มีแต่เด็กๆ เท่านั้นที่ไม่สามารถซื้อทุกอย่างได้ (เพราะพ่อแม่ไม่อนุญาต) แต่พ่อแม่เองก็ไม่สามารถซื้อทุกอย่างได้ในทันทีเหมือนกัน (เพราะข้อจำกัดทางการเงิน)


ผู้ใหญ่บางคนก็เก็บเงินตั้ง 10 ปีเพื่อที่จะดาวน์บ้านได้หนึ่งหลัง และยังต้องผ่อนต่ออีก 30 ปี ถึงจะจ่ายหนี้ธนาคารหมด และ “การออมเงินเล็กๆ น้อยๆ อย่างสม่ำเสมอ เพื่อเป้าหมายที่ใหญ่กว่า” ก็เป็นทักษะทางการเงินที่สำคัญมากๆ อย่างนึง ที่พ่อแม่ควรจะอธิบายให้เด็กๆ ได้เข้าใจ และเป็นทักษะที่เด็กๆ สามารถฝึกได้ตั้งแต่เล็กๆ เลยค่ะ เช่น อยากได้ของเล่นชิ้นละ 5,000 บาทเหรอ?? งั้นก็ต้องอดออมโดยการไม่ซื้อของเล่นชิ้นละ 250 บาท จำนวน 20 ชิ้น สมการมันก็ง่ายๆ แค่นี้เอง


Credit : Pixabay 


ยิ่งเป้าหมายของเราใหญ่แค่ไหน เรายิ่งต้องใช้เวลาในการรอคอยนานขึ้นเท่านั้น… และความจริงนี้จะอยู่กับเด็กๆ ไปตลอด ตั้งแต่เล็กจนโตเลยค่ะ


คุณพ่อคุณแม่เองก็สามารถแชร์สถานการณ์ทางการเงินในบ้านให้เด็กๆ ได้รับรู้ได้ และถือโอกาสสอนเค้าไปพร้อมๆ กันว่า… เราไม่สามารถซื้อทุกอย่างที่เราอยากได้ในตอนนี้ได้ แต่หากเราวางแผนการเงินไว้ดีๆ เมื่อเวลาที่เหมาะสมมาถึง เราเองก็สามารถซื้อได้ทุกอย่างที่เราอยากได้ ไม่ได้น้อยไปกว่าคนอื่นเลย (เราสามารถซื้อได้ทุกอย่าง แต่เราจะซื้อทุกอย่างไม่ได้!!! เพราะฉะนั้นเราต้องเลือกในสิ่งที่เราต้องการจริงๆ วางแผน และทำตามอย่างมีวินัยค่ะ)


3. รักษาเครดิตของเราไว้ให้ดี 


ถึงแม้ว่าเราจะยังไม่มีเงินมากพอที่จะซื้อทุกอย่างในชีวิตได้ทันที และต้องมีการอดออมในช่วงเวลานึงเพื่อที่จะซื้อสิ่งจำเป็น (หรือสิ่งฟุ่มเฟือย) ได้ แต่โลกใบนี้ก็ไม่ได้โหดร้ายขนาดนั้น เพราะหากเราเป็นคนมีเครดิต บางครั้งเราก็สามารถที่จะหยิบยืมเงินในอนาคตมาใช้ก่อนได้ เช่น แทนที่เราจะต้องเก็บเงิน 30 ปีเพื่อที่จะซื้อบ้านได้ด้วยเงินสด แต่ถ้าเราเป็นคนมีเครดิต เราก็อาจจะซื้อได้เลยทันทีโดยยืมเงินจากแบ้งก์มาก่อน และทยอยจ่ายคืนแบ้งก์เป็นเวลา 30 ปีแทนก็ได้ (แต่ก็มีดอกเบี้ยเพิ่มเข้ามา)

แล้วทำยังไงเราถึงจะเป็นคนมีเครดิตที่ดีจนสามารถหยิบยืมเงินในอนาคตมาใช้ได้ล่ะ?? 


Credit : Pixabay 


เราก็ต้องเป็นคนรักษาคำพูดค่ะ ถ้าบอกว่าจะเล่นเกมอีกแค่ 10 นาที เด็กๆ ก็ต้องเล่นอีกแค่ 10 นาทีจริงๆ ถ้าเด็กๆ บอกว่าจะช่วยแม่ล้างจาน ก็ต้องช่วยจริงๆ ถ้าเด็กๆ ขอให้แม่ซื้อของเล่นชิ้นละ $50 ให้ก่อนแล้วจะทยอยผ่อนให้วันละ $5 เป็นเวลา 10 วัน เด็กๆ ก็ต้องทำให้ได้ตามที่ได้รับปากเอาไว้


คนที่รักษาคำพูดได้ดี เราเรียกว่า “คนมีเครดิต” และในอนาคตหากเด็กๆ อยากจะขอยืมเพิ่มเป็น $100 หรือ $200 พ่อแม่ก็ยินดีที่จะให้ยืมโดยที่ไม่ต้องคิดมาก และนี่ก็เป็นหลักการเดียวกันกับการพิจารณาสินเชื่อของแบ้งก์ในโลกของผู้ใหญ่นี่แหละค่ะ เค้าจะให้ยืมเฉพาะ “คนมีเครดิต” เท่านั้น!!!


นี่ก็เป็น 3 เรื่องสำคัญเกี่ยวกับการเงินที่โรงเรียนทั่วไปไม่ได้สอนไว้ แต่พ่อแม่สามารถสอนเด็กๆ เองได้ง่ายๆ และจะเป็นประโยชน์กับเด็กๆ ไปจนโตเลยค่ะ


💗💗💗💗💗


เกี่ยวกับเรา


Tara Thow อ่านว่า ทาร่า โถว เป็นมนุษย์แม่ลูกสองอยู่ที่ซิดนีย์ สนใจศาสตร์พัฒนาตัวเอง ปรัชญา ธุรกิจ ครอบครัว รักเสียงเพลง ไวน์แดง และนิยาย


#คอร์สธุรกิจออนไลน์เริ่มง่ายไม่ต้องใช้เงินทุน


#หนังสือเปลี่ยนชีวิตให้เป๊ะปังด้วยพลังจากรูปภาพ


#สอนภาษาไทยให้เด็กๆที่เกิดต่างประเทศ


#อบรมครูสอนภาษาไทยให้ชาวต่างชาติ


💞 💞💞💞💞


ช่องทางในการติดตามเราจ้าา.. 😘


Facebook: https://www.facebook.com/pagetarathow


IG: tarathow


Youtube: https://www.youtube.com/c/TaraThow


Blockdit 1: มนุษย์แม่ลูกสองจากเมืองซิดนีย์ By Tara Thow


Blockdit 2: จุด by Tara Thow


Twitter: @tarathow


Blogspot: tarathow.blogspot.com


Tiktok: @tarathow


Line: @tarathow


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น